1. การอบรมทางศีลธรรมเป็นความจำเป็นของการศึกษาแห่งอิสลาม
นักปราชญ์มุสลิมได้เห็นพ้องต้องกันเป็นเอกฉันท์แล้วว่า การอบรมทางศีลธรรมเป็นความจำเป็นของการศึกษาแห่งอิสลาม และการขัดเกลาบุลิกลักษณะเป็นเป้าหมายที่ถูกต้องแท้จริง นี่มิได้หมายความว่าเรามิได้ให้ความสำคัญทางร่างกาย ทางด้านจิตใจ ทางด้านวิชาการและทางด้านปฏิบัติ แต่เรากำลังพูดถึงการศึกษาทางด้านศีลธรรมเช่นเดียวกับที่เราจะพูดถึงการศึกษาทางด้านอื่นทุกๆ ด้าน เด็กต้องการความแข็งแกร่งทางด้านสติปัญญาและร่างกาย การเรียนรู้ การปฏิบัติ และการอบรมบุคลิกลักษณะ ความรู้สึก ตลอดจนกระทั่งรสนิยม
นักการศึกษามุสลิมเห็นพ้องต้องกันว่าจุดประสงค์ของการศึกษานั้นมิใช่การยัดเยียดความรู้ให้แก่เด็ก แต่เป็นการขัดเกลาศีลธรรมของเด็ก ให้การศึกษาแก่จิตวิญญาณ เผยแผ่คุณธรรม สั่งสอนมารยาท และเตรียมให้เขามีชีวิตที่เต็มไปด้วยความจริงใจและความบริสุทธิ์ใจ
ดังนั้นเป้าหมายแรกและเป้าหมายสูงสุดของการศึกษาแห่งอิสลามก็คือการขัดเกลาทางศีลธรรม และการอบรมทางจิตวิญญาณ แต่ละบทเรียนจะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรม และครูทุกคนจะต้องถือว่า จริยธรรมทางศาสนานั้นอยู่เหนือสิ่งอื่นใด เพราะจริยธรรมทางศาสนานั้นเป็นอุดมการณ์ เป็นจริยธรรมที่สมบูรณ์และลักษณะอันสูงส่งเช่นนี้ก็เป็นพื้นฐานแห่งอิสลาม อิมามเฆาะซาลี ถือว่าเป้าหมายของการศึกษานั้นคือการเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้าโดยปราศจากความยะโสโอหัง เป้าหมายของนักศึกษาในการหาความรู้นั้นต้องมิใช่เพื่อการหาอำนาจเงินทาง ความรุ่งเรือง โอ้อวด หรือแข่งขันกับคนอื่น หรืออาจสรุปได้ว่า เป้าหมายของการศึกษาแห่งอิสลามนั้นอยู่ในคำว่า “คุณธรรม”
2. เพื่อการดำเนินชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรมในเวลาเดียวกัน
อิสลามมิได้จำกัดให้การศึกษาเฉพาะทางโลกหรือทางธรรมทางใดทางหนึ่งเท่านั้น
ท่านศาสนทูตเรียกร้องให้มุสลิมทุกคนศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไป ท่านได้กล่าวว่า “จงทำงานเพื่อชีวิตในโลกนี้ เหมือนดังว่าเจ้าจะไม่ตาย และจงทำดีเพื่อโลกหน้า เหมือนดังว่าท่านจะตายในวันพรุ่งนี้” ท่านศาสนทูตไม่ให้เรานึกถึงโลกใดโลกหนึ่งเพียงด้านดียว แต่ให้เรานึกถึงสองโลกไปพร้อมกันโดยไม่ทำให้โลกใดบกพร่องไป
3. เน้นในแง่ที่เป็นประโยชน์ของการศึกษา
แม้การศึกษาอิสลามจะเน้นหนักทางด้านศีลธรรมและจิตใจก็ตาม แต่อิสลามก็มิได้ละเลยที่จะให้ความสนใจในแง่ประโยชน์ของการศึกษาในสถาบันและการวางหลักสูตรต่างๆ วัตถุประสงค์ข้อนี้เห็นจะได้จากจดหมายของเคาะลีฟะฮ์อุมัร ที่มีไปยังผู้ครองนครว่า “จงสอนบุตรของท่านให้ว่ายน้ำและขี่ม้า และจงสอนให้รู้จักภาษิตและโคลงกลอน” อุมัรสั่งว่า เด็กๆ ควรได้รับการสินให้ว่ายน้ำเป็น ขี่ม้าเป็น เล่นกีฬาเป็น รู้จักวิชาทหาร การใช้ภาษาและการประพันธ์โคลงกลอนต่างๆ คนหัวรั้นเท่านั้นที่ปฏิเสธว่านักวิชาการมุสลิมไม่มีอิทธิพลต่อการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของยุโรปในศตวรรษที่ 14 เกี่ยวกับเรื่องนี้ มอนโร (Monroe) กล่าวในหนังสือ “ประวัติศาสตร์การศึกษา” The History of Education) ของเขาว่า “มุสลิมได้มีบทบาทสำคัญในทางด้านการแพทย์ การผ่าตัด เภสัชศาสตร์ ดาราศาสตร์ และปรัชญา พวกเขายังได้ประดิษฐ์ลูกตุ้มนาฬิกาและสอนชาวยุโรปให้รู้จักเข็มทิศและดินปืน”
การศึกษาของอิสลามนั้นมิใช่เป็นการศึกษาเฉพาะศาสนา ศีลธรรมและจิตใจ แต่การศึกษาในแง่นี้มีส่วนสำคัญในการปฏิบัติ ขณะเดียวกันการศึกษาของอิสลามก็มิใช่เป็นการศึกษาทางด้านวัตถุเพียงอย่างเดียว แต่การเป็นเจ้าของวัตถุหรือแสวงหาปัจจัยยังชีพนั้น อิสลามถือว่าเป็นเพียงเพื่อให้ชีวิตอยู่ได้เท่านั้น
อัลฟารอบี, อิบนุ สีนา (Avicenna) และอิควานุศเศาะฟา มีความเห็นพ้องกันว่า ความสมบูรณ์ของมนุษย์จะบรรลุได้ก็โดยมนุษย์มีศาสนาและความรู้อย่างเท่าเทียมกัน
4. การศึกษาวิชาการเพื่อวิชาการ
นักศึกษามุสลิมหลายคนศึกษาวิชาการเพื่อวิชาการ สำหรับคนพวกนี้ มันเป็นสิ่งให้ความสุขแก่ชีวิตของเขา และโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์เป็นผู้รักการเรียนรู้ ดังนั้นนักปรัชญามุสลิมหลายคนจึงหมกมุ่นอยู่กับการศึกษาวิทยาการ วรรณกรรมและศิลปะด้วยความสมัครใจ เพื่อตอบสนองธรรมชาติแห่งการเป็นผู้รักการศึกษาหาความรู้ การศึกษาตามอุดมการณ์คือ ศึกษาวิชาการเพื่อวิชาการ วรรณกรรมเพื่อวรรณกรรม และศิลปะเพื่อศิลปะ เพราะว่าในวิชาการเหล่านั้นคือ ความสุขที่ไม่มีอะไรเสมอเหมือน ในหนังสือ "กัชฟุซ ซุนูน" (Kashf al-Zounun) อัลฮัจญ์ เคาะลีฟะฮ์ กล่าวว่า การเรียนรู้เป็นความสุขที่สุดและเป็นสิ่งประเสริฐที่สุดในบรรดาทุกสิ่ง และในที่อื่นเขียนไว้ว่า "เป้าหมายของการศึกษานั้นมิใช่เพื่อการแสวงหาเพื่อยังชีพในโลกนี้ แต่เพื่อการได้รับสัจธรรม และสร้างความแข็งแกร่งให้แก่บุคลิกทางศีลธรรม" พูดอีกแง่หนึ่งก็คือ เพื่อการได้รับสัจธรรมทางวิชาการและบุคลิกอันสมบูรณ์
ใครก็ตามที่ได้เข้าสู่การพิจารณาถึงมรดกทางวิชาการ วรรณกรรม ศาสนาและศิลปกรรมของมุสลิมแล้ว จะพบกับสิ่งมีค่าอันอมตะอย่างที่ไม่เคยพบที่ไหนมาก่อนในโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสั่งสมความรู้ทางวรรณกรรมและศิลปะเพื่อศิลปะอย่างแท้จริง แต่ยี้มิใช่หมายความว่า พวกเขาละทิ้งการศึกษาเพื่อการเลี้ยงชีพโดยสิ้นเชิงแต่อย่างใด
5. การศึกษาสายอาชีพทางเทคนิคและอุตสาหกรรมเพื่อการเลี้ยงชีพ
การศึกษาของอิสลามมิได้ละเลยที่จะเตรียมตัวบุคคลให้สามารถประกอบอาชีพเพื่อความอยู่รอดของชีวิตของเขา ดังจะเห็นได้จากคำพูดของอิบนุ สีนา (Avicenna) ที่กล่าวว่า "เมื่อเด็กจบการศึกษาอัลกุรอานและภาษาศาสตร์เบื้องต้นแล้ว เขาควรได้เสาะแสวงหาอาชีพที่เขาปรารถนาจะมุ่งไทางนั้น ..." เขาควรจะฝึกอาชีพจนกว่าเขาจะมีงานทำโดยสุจริตตามแนวทางของศาสนาและศีลธรรมอันดี แม้อิสลามจะถือว่าศีลธรรมย่อมมาก่อน แต่มิใช่ว่าอิสลามละเลยที่จะให้เขาได้เตรียมตัวเพื่อแสวงหาปัจจัยยังชีพด้วย
ข้อมูลจากหนังสือ การศึกษาในอิสลาม (อัตตัรบิยะฮ์ อัลอิสลามียะฮ์ เขียนโดย ศ.ดร. มุฮัมมัด อะฏียะฮ์ อัล-อิบรอชี แปลโดย บรรจง บินการซัน พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์บ้านอัรกอม พ.ศ. 2554 หน้า 20-25